| Hannah Tsai

อาหารขึ้นชื่อของนาโกย่าคือ “ราเมง......” งั้นเหรอ ? 4 เมนู “....ไต้หวัน” ที่คนไต้หวันลองแล้วยังต้องขอบอกว่าห้ามพลาด

เชื่อว่ามีหลาย ๆ คนเคยสงสัยว่า ทำไมเวลาไปนาโกย่าถึงมีราเมงไต้หวัน อูด้งไต้หวัน และอะไร ๆที่เป็นไต้หวันมากมาย
และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ “ราเมงไต้หวัน” แถมคนญี่ปุ่นจากจังหวัดอื่น ๆ และชาวต่างชาติ (รวมไปถึงชาวไต้หวัน) ยังต้องมาเพื่อมาชิมเลยนะคะ อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงคิดใช่มั้ยคะว่า ไปนาโกย่าเพื่อไปรับประทาน “ราเมงไต้หวัน”ที่ไม่มีในไต้หวันเนี่ยนะ?หมายความว่ายังไงกันเนี่ย?

วันนี้ฉันที่เป็นคนไต้หวันและอาศัยอยู่ในนาโกย่าจะช่วยคุณคลายความสงสัยนี้ และพาคุณไปตระเวนหา “อาหารไต้หวัน” ในนาโกย่าด้วยกันค่ะ!

ทำไม “ราเมงไต้หวัน” จึงกลายเป็นอาหารของนาโกย่า?

ราเมงไต้หวันถูกคิดค้นขึ้นในปี 1970 โดย “โกวหมิงโหย่ว” ผู้จัดการร้าน“味仙”ร้านอาหารไต้หวันในนาโกย่า โดยแรงบันดาลใจมาจากการที่เขากับเพื่อนชาวญี่ปุ่นไปรับประทาน ”ทันซือเมง” และเกิดความประทับใจในความอร่อย ด้วยกำลังใจจากเพื่อนชาวญี่ปุ่น ทำให้โกวหมิงโหย่วนำสูตรทันซือเมงมาปรับปรุงเล็กน้อย เช่นใส่พริก กระเทียม เนื้อสับแบบเผ็ดลงไปเพื่อให้เข้ากับรสที่คนนาโกย่าคุ้นชิน กลายเป็น “ราเมงไต้หวัน”แบบในปัจจุบัน ณ ตอนนั้น เมนูนี้กลายเป็นเมนูที่พนักงานในร้านต่างให้ความสนับสนุน รวมไปถึงได้รับคำชมมากมายจากลูกค้าประจำ จนในที่สุดเขาก็ตัดสินใจตั้ง “ราเมงไต้หวัน” เป็นเมนูประจำร้าน และเนื่องจากผู้คิดค้นเมนูนี้เป็นชาวไต้หวัน เมนูนี้จึงถูกเรียกว่า “ราเมงไต้หวัน” ไปโดยปริยาย

หลังจากนั้น “ราเมงแบบเผ็ด” ก็บูมไปทั่วภูมิภาคชูบุ โดยปัจจุบันในเมืองนาโกย่าที่มีร้านราเมงมากกว่า 380 ร้าน และกว่าครึ่งของจำนวนทั้งหมดนั้นขายราเมงไต้หวัน แม้แต่ร้านแฟรนส์ชายที่มาตั้งที่นาโกย่า ก็ยังต้องมีการทำแคมเปญ “รสชาติไต้หวัน” ขึ้นมาเลยทีเดียว เห็นแบบนี้แล้ว เข้าใจแล้วใช่มั้ยล่ะคะว่า ราเมงไต้หวันฮอตแค่ไหน

รสชาติของ อาหารขึ้นชื่อประจำนาโกย่าที่ไม่มีในไต้หวันอย่าง “ราเมงไต้หวัน”เป็นอย่างไร ?

ตอนฉันอยู่ที่ไต้หวัน ไม่เคยได้ยินชื่อราเมงไต้หวันมาก่อนเลยค่ะ ตอนที่มานาโกย่าครั้งแรกก็แอบงงอยู่เหมือนกันว่ารสชาติเหมือนอาหารบ้านเกิดหรือเปล่านะ งั้นขอบอกตรง ๆ เลยนะคะว่า “ที่ไต้หวันไม่มีอาหารรสชาติแบบนี้ค่ะ นี่มันอาหารนาโกย่าชัด ๆ ฮ่าๆๆ”

แม้วิธีทำราเมงไต้หวันของแต่ละร้านจะแตกต่างกันออกไป แต่วัตถุดิบหลัก ๆ จะไม่เปลี่ยนค่ะ เช่น เนื้อหมูบดรสเผ็ดที่ปรุงด้วยผงกระเทียมและผงพริก (คนนาโกย่าเรียกเนื้อนี้ว่า “เนื้อบดไต้หวัน” แต่ที่ไต้หวันไม่มีแบบนี้นะคะ),กุ้ยช่าย,พริก,ต้นหอม เป็นต้น น้ำซุปส่วนใหญ่เป็นรสโชยุ รสชาติค่อนข้างที่จะเข้มข้นและเผ็ดจึงเหมาะกับผู้ที่ชอบทานรสจัด ๆ ค่ะ

ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนจะทราบดีว่าคนญี่ปุ่นรับประทานเผ็ดไม่ค่อยได้พอเห็นคำว่าเผ็ดในเมนูปุ๊ป เราจะตัดทอนความเผ็ดนั้นลงโดยอัตโนมัติใช่มั้ยคะ แต่ขอบอกเลยค่ะว่าความเผ็ดของไต้หวันมันไม่ธรรมดา!บางคนกินไปเหงื่อออกไป บางรายเผ็ดถึงขั้นหลั่งน้ำตา แต่ถึงอย่างนั้นความอร่อยของน้ำซุปเผ็ดแดงแปร๊ดนั้นก็จะทำให้คุณไม่สามารถวางตะเกียบลงได้

พอเกิดกระแสราเมงไต้หวันขึ้น อาหาร “....ไต้หวัน” ก็เกิดขึ้นตามมาราวกับดอกเห็ด เช่น แค่มีเนื้อบดเผ็ดปรุงอยู่ในอาหารก็จะถูกตั้งชื่อโดยเอาคำว่าไต้หวันไปใส่ เช่น มาเสะโซบะไต้หวัน (บะหมี่คลุก),แกงกะหรี่ไต้หวัน,พาสต้าไต้หวัน ฯลฯ ดูเหมือนว่าผู้คนในนาโกย่าคิดว่า “แค่มีเนื้อบดไต้หวันใส่อยู่ในอาหาร แค่นี้ก็ขายได้แล้ว”

วันนี้ฉันมาพร้อมกับความรู้สึกที่อยากลองรับประทานอาหารใหม่ ๆ จึงอยากมาแนะนำอาหารไต้หวันที่มีอยู่อยากหลากหลายในนาโกย่าค่ะ

อาหารไต้หวันและร้านที่แนะนำ

1.มาเสะโซบะไต้หวัน(บะหมี่คลุก)กับราเมงไต้หวัน:ร้านยะโดะการิยะ

ร้าน ”ราเมงยะโดะการิยะ”ที่ตั้งอยู่ในซากาเอะนั้น เป็นหนึ่งในเครือของร้าน “ปีกไก่ทอดยามะจัง” ร้านที่ชาวต่างชาติชอบไปเวลามานาโกย่า ที่นี่ขายราเมงในรสชาติต่าง ๆ ทั้งโชยุ มิโสะ ฯลฯ และเมนูที่ดังที่สุดในนั้นคือ “มาเสะโซบะไต้หวัน”

ภายในร้านตกแต่งแบบสไตล์ร้านราเมงแบบญี่ปุ่น มีตทั้งโต๊ะเคาน์เตอร์ที่สามารถมองเห็นเชฟที่กำลังปรุงราเมงและแบบโต๊ะที่นั่ง
ในมเมนูอาหารมีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น

มาเสะโซบะไต้หวันพระเอกของเรามาถึงแล้วค่ะ (ราคา 830 เยน)!ด้านบนสุดมีหมูตุ๋นน่าอร่อย กุ้ยช่ายและต้นหอมซอย สาหร่าย ปลาป่น ไข่ดิบและที่ขาดไม่ได้เลยก็คือหมูสับเผ็ดระดับ 1 ปริมาณเส้นสามารถเพิ่มได้ 1.5 เท่าแบบฟรีค่ะ

อย่าลืมใส่น้ำส้มสายชูสูตรลับเฉพาะและน้ำมันพริกลงไป 1รอบครึ่งด้วยนะคะ เพราะว่ารสชาติมันจะยิ่งอร่อยมากกว่าเดิม

 

 

จากนั้นใช้ตะเกียบกับช้อนตีไข่ให้แตกและเริ่มคลุกบะหมี่ในชามค่ะ

พอมาเสะโซบะของร้านยะโดะการิยะเข้าปากไปคำแรกปุ๊ป ฉันรู้สึกถึงรสชาติกลมกล่อมของปลาก่อนเลยค่ะ จากนั้นก็เป็นความเผ็ดของกุ้ยช่ายดิบกับน้ำจากเนื้อหมูและซอสสูตรพิเศษสุดกลมกล่อมที่ทำให้ได้รสชาติแบบอร่อยสุด ๆ ฉันรู้สึกถึงรสชาติเผ็ดแบบจี๊ด ๆ อยู่บ้าง ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นรสชาติแบบพอดี ๆ บวกกับเส้นราเมงหนา ๆ ดึ๋ง ๆ ขอยกให้เป็นเมนูแนะนำสำหรับคนที่ชอบอาหารรสเข้มข้นเลยค่ะ!ขนาดเพื่อนชาวไต้หวันของดิฉันยังอยากกลับมานาโกย่าอีกครั้งเพื่อเจ้านี่เลยละค่ะ

นอกจากนี้ยังสามารถลิ้มรสไต้หวันราเมง(700 เยน)ของร้านยะโดะการิยะอีกด้วยราเมงไต้หวันจะเผ็ดกว่ามาเสะโซบะ เครื่องในชามก็จะมีกุ้ยช่าย,เนื้อบดรสเผ็ด,พริก,ถั่วงอก ฯลฯ ราเมงไต้หวันมีรสชาติเค็มกว่านิดหน่อย แต่ถั่วงอกที่มีปริมาณมากจะช่วยให้รสชาติลงตัวมากยิ่งขึ้น* เหมาะกับคนชอบอาหารเผ็ด

2แกงกะหรี่ไต้หวัน:กันโสะแกงกะหรี่ไต้หวัน

”ร้านกันโสะแกงกะหรี่”ที่ตั้งอยู่ที่สถานีชิกุสะนั้นเป็นหนึ่งในเครือของร้าน “เมงยะฮานาบิ”ร้านที่โด่งดังในเรื่องของ “มาเสะโซบะราเมง” ที่ร้านเล็ก ๆ แห่งนี้ ส่วนใหญ่ที่นั่งจะเป็นแบบเคาน์เตอร์ ที่กำแพงร้านมีลายเซ็นของคนดังแปะเรียงราย ทำให้สัมผัสได้ถึงความดังของแกงกะหรี่ไต้หวัน

”แกงกะหรี่ไต้หวัน” (820 เยน )ที่เขียนอยู่ในป้ายข้างในร้านคือเมนูที่ประกอบด้วยข้าวสวยร้อน ๆ ราดด้วยแกงกะหรี่ที่มาพร้อมกับความเผ็ดกว่า 10 เลเวล บวกกับผักต้มต่าง ๆแครอท หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง ฯลฯ โปะด้วยเนื้อบดไต้หวัน มีต้นหอมคุโจซอย(จากจังหวัดเกียวโต)และกระเทียมบดวางเรียงอยู่ บนสุดมีไข่ดิบ นี่คือแกงกะหรี่ไต้หวันแบบสมบูรณ์

ผู้จัดการร้านบอกเราว่าสิ่งที่เป็นจุดขายของแกงกะหรี่ไต้หวันคือ “เนื้อบดไต้หวันรสเผ็ด” ซึ่งเป็นการน้ำเนื้อวัวกับเนื้อหมูบดปริมาณมากมาผัดเข้ากับพริกและกระเทียม ส่วนสูตรลับที่มีแค่ผู้จัดการร้านคนเดียวเท่านั้นที่รู้ ก็ยังถูกปิดเป็นความลับต่อไป

 

 

วิธีรับประทานที่แนะนำคือ ก่อนอื่นให้ลองชิมน้ำแกงกับเนื้อบดไต้หวันดูก่อนเพื่อที่จะได้สัมผัสรสชาติที่แท้จริง จากนั้นค่อยผสมกระเทียมกับต้นหอมเข้ากับแกงกะหรี่แล้วค่อยรับประทานอีกครั้งในตอนท้ายตีไข่ให้แตกแล้วคลุกทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้วลองลิ้มรสอีกครั้ง

ตักเข้าปากไปคำเดียวก็สัมผัสได้ถึงกลิ่นหอมของความเผ็ดอันเข้มข้นและมีหลายเลเยอร์ น้ำแกงกะหรี่ที่ซึมลงไปในข้าวประกอบกับเนื้อสับเผ็ดแสนอร่อย บวกกับรสชาติของกระเทียมดิบและต้นหอยซอยที่ช่วยทำให้ลิ้นรับรสชาติได้ดีขึ้น รู้ตัวอีกทีก็อร่อยจนหยุดไม่ได้เลยล่ะค่ะ ชื่นชมการนำวัตถุดิบต่าง ๆ มารวมกันได้แบบอัจฉริยะขนาดนี้จริง ๆ ค่ะ

ร้าน “เมงยะฮานาบิ”ที่เป็นผู้คิดค้นสูตรนี้บอกว่า ในตอนแรกเมนูนี้เกิดขึ้นจากการนำเนื้อบดรสเผ็ดจากมาเสะโซบะไต้หวันที่เหลือมาใส่ในแกงกะหรี่เพื่อทำเป็นอาหารเลี้ยงพนักงานในร้าน แต่กลับอร่อยกว่าที่คิด เมนูนี้จึงกลายเป็นเมนูอย่างเป็นทางการของร้าน

ที่โต๊ะมีเครื่องปรุงหลายอย่างวางไว้ให้คุณได้เลือกเติมอย่างอิสระ เช่น กิมจิ น้ำส้มสายชูสาหร่ายทะเล งาขาว โชยุ ฯลฯ แค่เติมเครื่องปรุงที่รสต่างกันลงไป รสชาติก็จะเปลี่ยนไปอีกแบบ เหมือนได้เจอสวรรค์ใหม่เลยล่ะค่ะ ใครที่ไม่ถนัดของเผ็ดแนะนำให้เติม “น้ำส้มสายชูสาหร่ายทะเล”นะคะ เพราะจะทำให้รสชาติเผ็ดเบาบางลงและรับประทานได้ง่ายมากขึ้นค่ะ

ผู้จัดการร้านสาขาชิกุสะใจดีและตลกมาก ๆ เลยล่ะค่ะ เล่าให้ฟังว่านักท่องเที่ยวที่มาพร้อมกระเป๋าเดินทางก็มีไม่น้อย แล้วเมื่อไหร่ที่มีคนไต้หวันมาล่ะก็ต้องรีบเตือนก่อนเลยว่า “นี่ไม่ใช่อาหารไต้หวันนะ” ฮ่าๆๆ

3.สปาเก็ตตี้ไต้หวัน : คาราเมะเท

ร้าน “คาราเมะเท”เป็นร้านแฟรนส์ชายของ “อังคะเคะสปาเก็ตตี้” อาหารขึ้นชื่อของนาโกย่า และวันนี้เรามากันที่ร้านสาขาอิเคะชิตะในเมืองนาโกย่าค่ะ (ถ้าอยู่แถว ๆ “ซากาเอะ”แนะนำให้ไปที่ร้านสาขา “มะรุโนะอุจิ” นะคะ)

“อังคะเคะสปาเก็ตตี้” เป็นอาหารที่เกิดขึ้นจากไอเดียของชาวนาโกย่า เป็นอาหารที่เกิดจากการนำพาสต้าเส้นหน้ามาต้มในน้ำแล้วนำไปผัด ก่อนราดด้วยซอสที่มีรสชาติอร่อยล้ำกับท็อปปิ้งต่าง ๆ

จากนั้นชาวนาโกย่าผู้มีความครีเอทีฟ ได้นำเมนูอังคะเคะสปาเก็ตตี้มาใส่เนื้อสับรสเผ็ดลงไป กลายเป็นเมนู “อังคะเคะพาสต้าไต้หวัน”(เป็นชื่อที่ดูสับสนดีนะคะ)

เครื่องของอังคะเคะพาสต้าไต้หวัน(972 เยน) มี ถั่วงอก กุ้ยช่าย เนื้อสับรสเผ็ดและไข่อนเซ็งพร้อมกับซอสพริกไทยดำรสชาติเข้มข้นให้ความเผ็ดอย่างสมบูรณ์แบบรสชาติอันอ่อนนุ่มของไข่อนเซ็งจะช่วยทำให้รสเผ็ดของอาหารกลมกล่อมมากขึ้น ถั่วงอกจะช่วยเพิ่มความกรอบให้กับอาหารจานนี้ได้เป็นอย่างดี เส้นมีความหนาและนุ่มถือว่าค่อนข้างจะแตกต่างจากพาสต้าที่เรารู้จัก แค่ไซส์Sก็ได้ปริมาณที่มากพอและคุ้มค่าแล้ว

วิธีรับประทานอังคาเคะสปาเกตตี้ไต้หวันมี 3 แบบด้วยกัน คือ
1.รับประทานไปทั้งอย่างนั้นเลย
2.คลุกกับซอสแล้วค่อยหม่ำ
3.เติมเครื่องปรุงที่คุณชอบแล้วค่อยชิมแบบ

ไหนจะอร่อยกว่าก็ต้องมาลองเองนะคะ!

อาหารไต้หวันก็เป็นของฝากได้เหมือนกัน!

ถ้าเกิดได้ลองไปชิมราเมงไต้หวันแล้วรู้สึกติดใจอยากกินอีกล่ะก็ ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีราเมงไต้หวันแบบกึ่งสำเร็จรูปขายนะคะ หรือจะซื้อกลับไปเป็นของฝากก็ได้ เพื่อที่จะได้ให้เพื่อน ๆ ของคุณได้สัมผัสกับรสชาติอาหารนาโกย่า แต่ว่าถ้าใครอยากซื้อก็ต้องรีบซื้อตอนอยู่ในนาโกย่านะคะ เพราะว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่อื่นแอบจะไม่มีราเมงไต้หวันแบบกึ่งสำเร็จรูปขายเลยล่ะค่ะ

สรุป

แม้ว่า “อาหารไต้หวันของนาโกย่า” จะไม่ได้เป็นอาหารที่มีอยู่จริงในไต้หวันแต่รสชาติอร่อยมากเลยทีเดียวล่ะค่ะ ขนาดฉันที่เป็นคนไต้หวันมาอาศัยที่นาโกย่ายังชื่นชมในความพยายามทำสิ่งใหม่ ๆ และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของอาหารจากชาวนาโกย่าซะด้วยซ้ำ ถ้าวันไหนอยากทานอาหารจีนลองเดินเข้าไปในร้านอาหารไต้หวันของนาโกย่าดูนะคะ รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน

Related Articles Related Articles