| Mark McDonald

การเดินทางภายในและรอบเมืองนาโกย่า: รถไฟใต้ดิน

แม้นาโกย่าจะเป็นเมืองใหญ่ที่มีทุกองค์ประกอบของความสนุกสนาน น่าค้นหา และตื่นเต้นรวมอยู่ด้วยกัน แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ทำให้เมืองแห่งนี้ยากแก่การเข้าถึงหรือเดินทางแม้แต่น้อย โดยในบทความนี้เราจะขอนำเสนอแนวทางและเคล็ดลับดีๆในการเดินทางเพื่อเที่ยวชมเมืองนาโกย่า เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างมีอรรถรสที่สุด

การเดินทางด้วยรถไฟใต้ดิน

ทางรถไฟใต้ดินของนาโกย่าประกอบด้วยสายหลัก4สายและสายย่อยๆอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งสถานีตามเส้นทางรถไฟเหล่านี้จะครอบคลุมไปถึงจุดสำคัญต่างๆในตัวเมือง และในบทความนี้เราจะขอแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟสายต่างๆให้แก่ผู้อ่าน เพื่อประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น

สาย Higashiyama

ทางรถไฟสาย Higashiyama จะถูกแทนด้วยเส้นสีเหลืองบนตารางรถไฟ โดยจะเริ่มตั้งแต่สถานี Takabata ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ลากยาวไปจนถึงสถานี Fujigaoka ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทางรถไฟสายHigashiyama นี้นับได้ว่าเป็นสายที่คนใช้บริการเยอะและแน่นที่สุดในทุกสาย เนื่องจากมันแล่นตัดผ่านสถานที่ท่องเที่ยวและย่านช็อปปิงมอลล์หลักๆของนาโกย่านั่นเอง

สาย Tsurumai

ทางรถไฟสาย Tsurumai จะถูกแทนที่ด้วยเส้นสีฟ้าบนตารางรถไฟ โดยจะเริ่มตั้งแต่สถานี Kami Otani ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลากยาวไปจนถึงสถานี Akaike ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยทางรถไฟสายนี้มีสถานีที่สำคัญคือสถานี Fushimi (สาย Higashiyama ก็ผ่านสถานีนี้เช่นกัน), สถานี Kamimaezu, สถานี Osu Kannon และสถานี Tsurumai

สาย Meijo

ทางรถไฟสาย Meijo จะถูกแทนที่ด้วยเส้นสีม่วงบนตารางรถไฟ โดยทางรถไฟสายนี้จะวิ่งเป็นวงกลมไปรอบๆเมือง สถานีที่สำคัญในสาย Meijo ได้แก่สถานี Shiyakusho (ที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด), สถานี Hisaya-Odori (สามารถไป TV Tower ได้จากสถานีนี้), สถานี Yaba-cho, สถานี Kamimaezu (สาย Higashiyama ก็ผ่านสถานีนี้เช่นกัน) และสถานี Jingu Nishi อันเป็นที่ตั้งของศาลเจ้า Atsuta


ข้อควรระวัง: นักท่องเที่ยวหลายคนมักจำทางรถไฟสาย Meijo และ Meiko สับสนกัน เพราะฉะนั้นก่อนขึ้นควรเช็คให้แน่ใจก่อนว่าขึ้นถูกสายหรือไม่

สาย Sakura-dori

ทางรถไฟสาย Sakura-dori จะถูกแทนที่ด้วยเส้นสีแดงบนตารางรถไฟ โดยจะเริ่มตั้งแต่สถานี Nakamura Kuyakusho ลากยาวไปจนถึงสถานี Tokushige ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยทางรถไฟสายนี้มีสถานีที่สำคัญคือสถานี Nagoya, สถานี Kokusai Center, สถานี Marunouchi (สาย Tsurumai ก็ผ่านสถานีนี้เช่นกัน), สถานี Hisaya-Odori (สาย Meijo ก็ผ่านสถานีนี้เช่นกัน), สถานี Imaike และสถานี Sakurayama

ทางรถไฟสายย่อยอื่นๆ

นอกจากทางรถไฟสายหลักตามที่เขียนไปข้างต้นแล้ว นาโกย่ายังมีทางรถไฟสายย่อยๆที่แตกแขนงออกไปอีกมากมาย โดยทางรถไฟสายย่อยที่นักท่องเที่ยวมักใช้บ่อยๆคือทางรถไฟสาย Meiko นั่นเอง

สาย Meiko

ทางรถไฟสาย Meiko (สายสีม่วงและขาว) จะวิ่งไปทางเดียวกับสาย Meijo และจะแยกออกจากกันที่สถานี Kanayama เพื่อจะมุ่งหน้าไปยังสถานี Nagoyako อันเป็นที่ตั้งของท่าเรือนาโกย่า ข้อสังเกตง่ายๆที่จะทำให้เรารู้ว่ารถไฟคันไหนคือสาย Meiko คือ ให้ดูที่หัวขบวนว่าหันไปยังสถานีใด เพราะรถไฟสาย Meiko จะมักจะมุ่งหน้าไปยังสถานี Nagoyako เสมอ


อีกหนึ่งข้อสังเกตที่แยกสาย Meijo และ Meiko ออกจากกันได้โดยง่ายคือ รถไฟสาย Meijo นั้นโดยทั่วไประบุว่ารถไฟคันนั้นๆวิ่งตามเข็มนาฬิกา (右回り) หรือทวนเข็มนาฬิกา (左回り) แทนที่จะระบุเป็นชื่อสถานี นอกจากนี้แล้ว หลังจากที่รถไฟสาย Meijo ออกจากชานชาลา รถไฟสาย Meiko จะเป็นคันถัดไปที่เข้ามาเทียบชานชาลาเสมอ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องผิดปกติหากเราต้องรอรถไฟสายนี้นานจนเกินความจำเป็น


ถ้าหากเผลอขึ้นผิดสาย ให้ลงรถที่สถานี Kanayama และเปลี่ยนไปขึ้นสายที่ถูกต้อง แต่สำหรับคนที่นั่งจนเลยสถานี Kanayama มาแล้วนั้น ให้ลงที่สถานีใดก็ได้แล้วข้ามไปที่ชานชาลาฝั่งตรงข้ามเพื่อนั่งรถไฟย้อนกลับไปยัง Kanayama และเปลี่ยนสายที่ถูกต้องที่นั่น โดยค่าโดยสารจะยังคงเท่าเดิมและไม่มีการเก็บเพิ่มใดๆตราบใดที่เรายังไม่ออกจากสถานี


โดยทั่วไปนักท่องเที่ยวจะไม่ใช้ทางรถไฟสายย่อยอื่นๆนอกจากสาย Meiko แต่ทางเราจะขอลงข้อมูลทางรถไฟสายย่อยอื่นๆไว้โดยสังเขปเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจ

สาย Kami-Iida

ทางรถไฟสาย Kami-Iida นั้นจะเป็นสายย่อยที่แยกตัวออกมาจากสาย Meijo ที่สถานี Heian-Dori ซึ่งว่ากันตามตรงแล้วทางรถไฟสายนี้จะหยุดแค่สถานี Kami-Iida สถานีเดียวเท่านั้น หลังจากแล่นผ่านสถานีดังกล่าวไปแล้วทางรถไฟสายนี้จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสายอื่นและวิ่งไปยังสถานที่ต่างๆแทน อย่างไรก็ตามหากเรานั่งรถไฟสายนี้ไปจนสุดทาง เราจะพบว่าตัวเองกลับมาอยู่ที่สถานี Kami Otai ซึ่งเป็นสถานีแรกและสถานีสุดท้ายของทางรถไฟสาย Tsurumai

สาย Aonami

ว่ากันตามตรงแล้วรถไฟสาย Aonami นั้นไม่ใช่รถไฟใต้ดิน แต่เป็นรถไฟทั่วไปที่วิ่งบนพื้นดิน เพียงแต่ว่าทางรถไฟสายนี้ปรากฏอยู่บนเส้นทางเดินรถของรถไฟใต้ดินเท่านั้น รถไฟสาย Aonami นั้นเริ่มต้นจากสถานี Kinjo-Futo และวิ่งผ่านสถานีที่สำคัญคือ สถานี Nagoya Keibajo Mae ซึ่งเป็นสถานีที่ใกล้ที่สุดสำหรับเดินทางไปยังสถานตรวจคนเข้าเมืองประจำนาโกย่า โดยทางรถไฟสายนี้จะไปจบที่สถานี Kinjo-Futo อันเป็นที่ตั้งของ Legoland ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้

สาย Toyota

ทางรถไฟสาย Toyota เองก็เป็นเหมือนสาย Aonami กล่าวคือ ทางรถไฟสายนี้ไม่ใช่รถไฟใต้ดินเพียงแต่มีทางเดินรถปรากฏอยู่ในแผนที่เดินรถไฟของรถไฟใต้ดินเท่านั้น ทางรถไฟสาย Toyota จะเริ่มต้นที่สถานี Akaike และจบลงที่สาย Tsurumai ก่อนที่จะมุ่งหน้าผ่านไปยังเมือง Toyota

ตั๋วโดยสารประเภทต่างๆ

การเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินนั้น เราสามารถเลือกใช้ตั๋วได้หลากหลายรูปแบบด้วยกัน

ตั๋วโดยสารทั่วไป

ตั๋วโดยสารทั่วไปนั้นจะใช้สำหรับการเดินทางจากสถานีหนึ่งไปสู่สถานี(สามารถเปลี่ยนรถที่สถานีใดก็ได้ หากจำเป็น) สามารถซื้อจากเครื่องจำหน่ายตั๋วเครื่องใดก็ได้

ข้อควรรู้เกี่ยวกับตั๋วประเภทนี้คือ ขณะเลือกซื้อตั๋วนั้นเราจำเป็นต้องเลือกที่ราคาค่าโดยสารโดยไม่ได้เห็นชื่อของสถานีโดยตรง ในจุดนี้นั้น เราสามารถดูค่าโดยสารสำหรับสถานีที่ต้องการได้จากตารางเดินรถที่ติดอยู่ในสถานีได้ เช่น จากสถานี Nagoya ไปยังสถานี Sakae ที่ตารางเดินรถระบุราคา 200เยน เราก็จะเป็นต้องเลือกซื้อตั๋วราคา 200เยน เป็นต้น

ในกรณีที่ซื้อตั๋วโดยสารผิดไปจากราคาค่าโดยสารที่กำหนด ให้มองหาเครื่องปรับราคาค่าโดยสารที่ถูกติดตั้งไว้ตามประตูทางออกของแต่ละสถานีและทำการจ่ายเงินส่วนที่ขาดไปได้ที่เครื่องนั้น

บัตรโดยสารรายวัน

บัตรโดยสารรายวันจะถูกแยกออกเป็น 3ประเภทด้วยกัน คือ


ก.) บัตรโดยสารรายวันสำหรับรถไฟใต้ดินเท่านั้น: บัตรประเภทนี้จะมีราคา 740เยน โดยจะอณุญาตให้ผู้ถือบัตรเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินสายใดก็ได้ (สาย Higashiyama, Tsurumai, Meijo / Meiko, and Sakura-dori )โดยไม่จำกัดเที่ยวเป็นเวลา 1 วัน

ข.) บัตรโดยสารรายวันสำหรับรถไฟใต้ดินและรถบัส: บัตรประเภทนี้มีราคา 850เยน และมีคุณสมบัติเหมือนบัตรโดยสารรายวันสำหรับรถไฟใต้ดินทุกประการ เพียงแต่ผู้ถือบัตรยังสามารถเดินทางด้วยรถบัสได้โดยไม่จำกัดเที่ยวในวันนั้นๆได้อีกด้วย

ค.) บัตรโดยสารสำหรับวันหยุด: บัตรประเภทนี้มีราคา 600เยน และมีคุณสมบัติเหมือนบัตรโดยสารรายวันสำหรับรถไฟใต้ดินและรถบัสทุกประการ เพียงแต่บัตรนี้จะสามารถซื้อได้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดราชการ และทุกวันที่ 8 ของเดือนเท่านั้น (บัตรนี้สามารถใช้เป็นส่วนลดในการเข้าชมสถานที่บางแห่งในนาโกย่าได้อีกด้วย)


โดยนักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อบัตรทั้งสามประเภทนี้ได้จากเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ

บัตร Manaca หรือบัตรอื่นๆที่ใกล้เคียง

บัตรโดยสารประเภทนี้โดยปกติจะไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวมากนัก โดยบัตร Manaca นี้จะทำหน้าที่คล้ายบัตรเติมเงินที่เราสามารถเติมเงินและใช้เพื่อเข้าออกสถานีรถไฟได้ (คล้ายกับบัตร Rabbit ของประเทศไทย)

โดยบัตรโดยสาร Manaca นี้แม้จะมีขายตามร้านสะดวกซื้อและร้านค้าบางแห่ง แต่โดยทั่วไปแล้วก็สามารถหาซื้อและเติมเงินได้ตามเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติบริเวณสถานีรถไฟ


แต่ถ้าหากคุณเป็นนักท่องเที่ยวที่มีบัตรเติมเงินประเภทนี้ในชื่ออื่น (เช่นบัตร Suica ของโตเกียว) แล้วล่ะก็ คุณสามารถใช้บัตรนั้นๆแทนบัตร Manaca ได้เช่นกัน เนื่องจากล่าสุดเพิ่งมีมาตรการยอมรับให้บัตรเหล่านี้มีผลต่อรถไฟใต้ดินเช่นเดียวกับรถไฟอื่นๆ


ผู้แปล ภคิน ธนสารกิจ