| กองบรรณาธิการCentrip

บะหมี่คิชิเม็งของนาโกย่า อาหารนาโกย่าที่เหมาะกับผู้ทานมังสวิรัติที่สุด

หนึ่งในแรงจูงใจที่ดึงดูดให้คนมาเที่ยวญี่ปุ่นคงหนีไม่พ้นอาหารญี่ปุ่นแบบต้นตำหรับ แต่อาหารญี่ปุ่นไม่ได้มีเพียงซูชิและราเมง (ที่ทุกคนรู้จัก) ไคเซคิเรียวริ (ที่ราคาแพงมาก) หรือ ฟูกุ (ที่ทุกคนอยากลองชิม) นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้วยังมีอาหารชื่อดังของแต่ละท้องถิ่นซึ่งเป็นอาหารที่ถูกประดิษฐ์สร้างสรรค์อย่างเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดเชกเช่นอาหารญี่ปุ่นอื่น ๆ

ในนาโกย่ามีอาหารอยู่ประเภทหนึ่งชื่อว่า นาโกย่าเมชิ (เมชิในที่นี้แปลว่าข้าวสวยแต่มีความหมายโดยรวมว่าอาหาร) เป็นอาหารที่รสชาติไม่จัดซึ่งแตกต่างจากอาหารของนาโกย่าประเภทอื่นที่มักมีรสชาติเข้มข้น

คิชิเม็งคืออะไร: ประวัติศาสตร์และลักษณะ

อาหารหน้าตาเรียบง่ายนี้มีชื่อว่า คิชิเม็ง ซึ่งเป็นอาหารของจังหวัดไอจิในตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น ที่ผ่านมาได้มีการพยายามค้นหาที่มาที่ไปของคิชิเม็งอยู่หลายครั้ง และหนึ่งในทฤษฏีที่ว่าคือ ในอดีตเคยมีบะหมี่ที่มีชื่อว่า คิจิเม็ง ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นเนื้อของนกที่มีชื่อว่าคิจิ อีกหนึ่งทฤษฏีคือเจ้าเมืองแห่งคิชู (ตั้งอยู่ใกล้กับจังหวัดวาคายามะ) มักชอบนำบะหมี่ไปฝากเจ้าเมืองแห่งโอวาริ (บริเวณใกล้เคียงเมืองนาโกย่าในปัจจุบัน) ผู้คนจึงพากันเรียกบะหมี่นี้ว่า คิชิวเม็ง และเพี้ยนเสียงมาเป็น คิชิเม็ง ในภายหลัง บะหมี่คิชิเม็งมีหน้าตาคล้ายกับอุด้ง บะหมี่สีขาวเส้นหนาซึ่งหาได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น ข้อต่างคือเส้นของคิชิเม็งจะมีลักษณะแบน จุดนี้อาจดูไม่สำคัญนักแต่จริงๆแล้วทำให้รู้สึกแตกต่างมากทีเดียว ตอนที่เราไปเยี่ยมชมโรงงานมิยะ คิชิเม็งและได้มีโอกาสถามผู้จัดการโรงงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาได้บอกเราว่าการที่เส้นแบนนั้นทำให้มีพื้นที่สำหรับให้น้ำซุปหรือซอสซึมเข้าไปในเส้นมากขึ้น นี่เองคือเหตุผลที่นาโกย่าเมชิมักมีรสชาติเข้มข้นเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้หากใครที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้ตะเกียบ การที่เส้นมีลักษณะแบนก็ทำให้สามารถทานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

การไปเยี่ยมโรงงาน มิยะ คิชิเม็ง

วันนี้จะเป็นเรื่องราวความเป็นมาของมิยะ คิชิเม็ง(宮きしめん) ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนแห่งวัฒนธรรมอันยาวนานของจังหวัดไอจิ ในร้านคิชิเม็งทั้งหมดของนาโกย่า มิยะคิชิเม็งเป็นร้านเดียวที่มีความเกี่ยวข้องกับศาลเจ้าอัทสึตะจิงกูซึ่งเป็นหนึ่งในศาลเจ้าชินโตที่สำคัญที่สุดของประเทศญี่ปุ่น เพื่อการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับมิยะ คิชิเม็ง ทางเราจึงได้ไปเยี่ยมชมโรงงานในเมืองโทโยตะและได้ยินเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายจากผู้จัดการโรงงาน เหตุผลที่โรงงานตั้งอยู่ในบริเวณนั้นเป็นเพราะในระแวกนั้นมีน้ำบาดาลอยู่มาก ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำเส้นบะหมี่ วิธีการทำคิชิเม็งมีดังนี้ เริ่มแรกพนักงานจะผสมแป้ง เกลือ และน้ำเพื่อทำเส้น ความหนาของเส้นในตอนแรกจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 เซนติเมตร แต่เมื่อนวดไปเรื่อยๆเส้นจะเริ่มบางลงจนเหลือเพียง 1.5 มิลลิเมตร หลังจากนี้เส้นจะถูกตัดให้เหลือความยาว 5 เซนติเมตร ถูกนำไปตากแห้ง บรรจุซองและเช็คโดยเครื่องเอ็กซ์เรย์ก่อนถูกส่งออกจากโรงงาน โรงงานนี้ผลิตคิชิเม็งส่งร้านต่างๆและวิธีการทำจึงแตกต่างออกไปขึ้นอยู่กับแต่ละร้านนั้นเอง

ทางโรงงานมีความเข้มงวดเรื่องความสะอาดเป็นอย่างมาก เมื่อเข้าไปด้านใน สิ่งแรกที่ต้องทำคือใส่หมวกพิเศษ เสื้อกาวน์สีขาว และต้องเปลี่ยนรองเท้าอีกด้วย หลังจากนั้นจะต้องเข้าไปในโซนฆ่าเชื้อเป็นเวลาสิบวินาทีเพื่อกำจัดเชื้อโรคและฝุ่นทุกอย่างจากร่างกาย เมื่อออกจากโซนนี้แล้วขั้นตอนต่อไปคือการจัดการกำจัดเศษฝุ่นเล็กน้อยจากบนหัว แขน และส่วนอื่นๆของร่างกายด้วยการใช้ลูกกลิ้งแผ่นกาว ขั้นตอนสุดท้ายคือการล้างมือ ขั้นตอนเหล่านี้จะต้องถูกทำอย่างเคร่งครัดเพื่อให้แน่ใจในระดับความสะอาดสูงสุดของอาหาร

ลิ้มรสมิยะ คิชิเม็งที่ร้านอาหารในศาลเจ้าอัตสึตะจิงกู

หลังจากการเยี่ยมชมโรงงานเรียบร้อยแล้ว เราได้เดินทางไปยังร้านอาหารของมิยะ คิชิเม็งที่มีสาขาอยู่ที่ศาลเจ้าอัตสึตะ จิงกู ร้านอาหารนี้มีที่นั่งอยู่ด้านนอกท่านจึงสามารถดื่มด่ำไปกับความอร่อยของคิชิเม็งระหว่างชื่นชมความสวยงามของป่ารอบศาลเจ้า ในช่วงหลังมานี้จำนวนของนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นทางร้านอาหารจึงมีพนักงานที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้

ก่อนหน้านี้เราได้พูดไปว่ามิยะ คิชิเม็งและศาลเจ้าอัตสึตะ นั้นมีความสัมพันธ์กัน บริษัทนี้ได้รับอนุญาตให้ขายบะหมี่ในศาลเจ้าและขึ้นชื่อสินค้าว่า มิยะ คิชิเม็ง หากท่านคุ้นเคยกับการใช้ภาษาญี่ปุ่นท่านอาจรู้ว่าตัวอักษรคันจินั้นมีวิธีการอ่านมากกว่าหนึ่งแบบ ซึ่งทำให้เกิดความงุนงงในหลากหลายครั้ง ชาวญี่ปุ่นเองก็มักอ่านผิดเป็นเรื่องปกติเลยทีเดียว คันจิ宮มีความหมายว่าศาลเจ้าและสามารถอ่านออกเสียได้ว่า กู (คันจิตัวนี้คือเสียง กู ในชื่ออัตสึตะ จิงกู และยังสามารถออกเสียงว่า มิยะ เหมือนกับชื่อเมืองอิจิโนะมิยะไม่ไกลจากนาโกย่า นี่คือเหตุผลที่บะหมี่ที่ถูกขายที่ศาลเจ้า อัตสึตะ จิงกูได้ชื่อว่า มิยะ คิชิเม็ง

อาหารที่ทำด้วยคิชิเม็งมีหลายประเภทจึงอาจเป็นความคิดที่ดีหากท่านจะลองใช้เวลากับตัวเลือกต่างๆที่มี ศาลเจ้าเป็นที่สำหรับการใช้ความคิดไตร่ตรองอย่างสงบ จึงเป็นที่ที่ดีที่จะใช้ความคิดกับอาหารเช่นกัน

คิชิเม็งสำหรับมังสวิรัติ

หากท่านเป็นคนทานมังสวิรัติและอยากลองชิมคิชิเม็งที่ศาลเจ้าอัตสึตะท่านควรระวังสิ่งที่อยู่ในชาม เส้นบะหมี่นั้นไม่เป็นอะไรแต่ส่วนใหญ่น้ำซุปมักทำมาจากสต๊อกที่มีส่วนประกอบของปลา ท่านสามารถขอน้ำซุปแบบอื่นๆ เช่นโกมะดาเระที่ทำมาจากงา เป็นต้น


ปกติแล้วในประเทศญี่ปุ่นมักไม่มีคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ แต่ที่ร้านมิยะคิชิเม็งในศาลเจ้าอัตสึตะมีคำอธิบายภาษาอังกฤษพร้อมกับภาพประกอบสำหรับเมนูที่ได้รับความนิยม ทำให้การสั่งอาหารง่ายขึ้นมากทีเดียว


หากท่านอยากลองเข้าถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่น ท่านควรลองไปชิมมิยะ คิชิเม็งที่ศาลเจ้าอัตสึตะดูสักครั้ง



แปลโดย ชลิตา เลิศศรัทธา