| Centrip Editorial Board
อีกหนึ่งเส้นทางสายซามูไร มาเดินท่องไปในเมืองที่เป็นจุดพักแรมระหว่างทางบนเส้นทางสายโทไคโด
ในสมัยเอโดะ ได้มีการปรับปรุงถนนสองสายให้เป็นเส้นทางสายหลักเพื่อเชื่อมระหว่างเอโดะ (โตเกียว) และเกียวโต หนึ่งในนั้นคือเส้นทาง「สายโทไคโด」ซึ่งเลียบผ่านแนวชายฝั่ง และอีกสายหนึ่งคือเส้นทาง「สายนาเซ็นโดะ」ซึ่งเลียบผ่านแนวภูเขาและพื้นที่ภายในที่ห่างจากชายฝั่งทะเล
สำหรับชาวต่างชาติที่สนใจในวัฒนธรรมนินจาและซามูไรของญี่ปุ่น อาจจะคุ้นเคยกับเส้นทางสายนากะเซ็นโดะมากกว่าเส้นทางสายโทไคโด ถึงแม้ว่าชื่อ「โทไคโด」จะปรากฏอยู่บนรถไฟชินคันเซนก็ตาม สำหรับเส้นทางสายนากะเซ็นโดะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนบนภูเขาที่เรียกว่า「คิโซจิ 」นั้นได้รับการแนะนำจาก BBC ของอังกฤษว่าเป็นเส้นทางที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากให้มาเยือน เพราะเส้นทางนี้คุณสามารถเพลิดเพลินกับทัศนียภาพของถนนโบราณและเมืองที่เป็นจุดพักแรมระหว่างทางในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
บทความที่เกี่ยวข้อง
เส้นทางสายโทไคโดหลังยุคสมัยใหม่ของญี่ปุ่นมีรถไฟชินคันเซนสายโทไคโดและถนนหลวงเป็นเส้นทางการคมนาคมหลัก ในด้านหนึ่งท่ามกลางการพัฒนานี้ มีสถานที่เพียงไม่กี่แห่งที่คุณยังสามารถเพลิดเพลินกับบรรยากาศของถนนสายหลักในอดีตและเมืองที่เป็นจุดพักแรมระหว่างทางได้ อย่างไรก็ดี ตลอดแนวของเส้นทางสายโทไคโดนั้นคุณสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ดังนั้นในระหว่างที่พักอยู่ในเมืองต่างๆ เช่น นาโกย่า มีสถานที่ที่มีเสน่ห์ดึงดูดมากมายที่คุณสามารถแวะเยี่ยมชมได้ด้วยระยะเวลาการเดินทางแบบครึ่งวันถึงหนึ่งวัน
ในบทความนี้ เราจะพูดถึงสามเมืองที่เคยเป็นจุดพักแรมระหว่างทางของเส้นทางสายโทไคโดในพื้นที่ภูมิภาคชูบุ ได้แก่ (อัตสึทามิยะจูกุ, เซกิจูกุ และสึจิยามะจูกุ) ที่คุณสามารถเดินทางได้ง่ายๆ จากสนามบินนานาชาติชูบุเซ็นแทรร์และนาโกย่า, เมือง (อะริมัตสึ) ที่ขยายตัวควบคู่ไปกับถนนสายหลัก และเราขอแนะนำเส้นทางเดินป่าแบบหนึ่งวันบนเส้นทางสายโทไคโดจากเซกิจูกุถึงสึจิยามะจูกุ
สารบัญ
อัตสึตะ มิยาจูกุ (จังหวัดไอจิ)
ในบรรดาเมืองที่พักแรมระหว่างทางทั้ง 53 แห่งบนเส้นทางสายโทไคโด「มิยาจูกุ」ที่ตั้งอยู่ในเขตอัตสึตะ เมืองนาโกย่า นับเป็นเมืองที่ 41 นับจากเอโดะ ปัจจุบันแม้ว่าอัตสึตะจะอยู่ในเขตการปกครองของเมืองนาโกย่า แต่เพราะพื้นที่นี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานจนคนในท้องถิ่นมีคำกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า「ตั้งแต่แรกอัตสึตะนั้นเกิดขึ้นมาก่อน และนาโกย่าเกิดขึ้นตามมาทีหลัง」
ตั้งแต่แรกเริ่มในอดีต เมืองนี้ถูกสร้างขึ้นในฐานะเมืองของศาลเจ้าอัตสึตะ หลังจากสมัยเอโดะเมืองนี้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมากในฐานะเมืองที่พักแรมระหว่างทางของเส้นทางสายโทไคโด และในสมัยเอโดะตอนปลาย (กลางศตวรรษที่ 19) เมืองแห่งนี้มีฮนจิน 2 แห่ง (ที่พักสำหรับขุนนางและบุคคลสำคัญ) และมี วากิ-ฮนจิน 1 แห่ง (ที่พักระดับรองจากฮนจิน) และโรงเตี๊ยมอีกประมาณ 250 แห่ง (โรงเตี๊ยมทั่วไป) ว่ากันว่าที่นี่เป็นเมืองพักแรมระหว่างทางที่ใหญ่ที่สุดบนเส้นทางสายโทไคโด
จากมิยาจูกุถัดไปถึงเมืองที่พักแรมระหว่างทางลำดับที่ 42 คุวานาจูกุ เป็นเส้นทางเดินเรือที่เรียกว่า 「ชิจิริ โนะ วาตาชิ」และในยุคนั้นนักเดินทางข้ามทะเลโดยเรือเป็นระยะทาง 7 ริ (ประมาณ 27 ถึง 28 กม.) กระบวนการพัฒนาให้ทันสมัยทำให้พื้นที่รอบๆ มิยาจูกุได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่และมีสถานที่ไม่กี่แห่งที่คุณสามารถสัมผัสถึงภาพเงาในอดีตของเมืองที่พักแรมระหว่างทาง ส่วนที่เหลือของท่าเทียบเรือในเวลานั้นได้รับการปรับปรุงให้เป็น「สวนสาธารณะมิยา โนะ วาตาชิ หรือชิจิริ โนะ วาตาชิ 」ทั้งยังได้ทำการบูรณะไฟสำหรับกลางคืนและระฆังบอกเวลาอีกด้วย
บริเวณใกล้ๆ กับสวนมิยาโนะวาตาชิ เป็นที่ตั้งของ「ศาลเจ้าอัตสึตะ」ที่เป็นที่เคารพสักการะของเหล่าซามูไรมาช้านาน และเป็นที่ประดิษฐานของ「ดาบคุซานางิ」หนึ่งในสามเครื่องราชกกุธภัณฑ์ศักดิ์สิทธิ์ประจำจักรพรรดิญี่ปุ่น กล่าวกันว่าโอดะ โนบุนางะ ผู้เป็นดาวเด่นแห่งยุคเซ็นโกคุ ได้มาที่ศาลเจ้าอัตสึตะด้วยตัวเองเพื่ออธิษฐานขอชัยชนะก่อนการ「ต่อสู้แห่งโอเกะฮาซามะ」 ซึ่งจะกำหนดชะตากรรมของเขา (และชะตาของยุคเซ็นโกคุด้วย) และในบริเวณนี้ยังมี「กำแพงโนบุนางะ」ที่โนบุนางะได้สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นสักการะให้แก่ชัยชนะเหนือการสู้รบที่งดงามที่โอเกะฮาซามะ
ภูมิทัศน์เมืองเก่าของอะริมัตสึ (จังหวัดไอจิ)
ใกล้กับเขต「อาริมัตสึ」เมืองนาโกย่า เป็นพื้นที่สนามรบของการต่อสู้แห่งโอเกะฮาซามะที่โนบุนางะเคยสู้รบ
อะริมัตสึเดิมที่เป็นหมู่บ้านโรงน้ำชาที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองที่พักแรมระหว่างทางลำดับที่ 39 ชิริวจูกุ ของเส้นทางสายโทไคโด และเมืองที่พักแรมระหว่างทางลำดับที่ 40 นารุมิจูกุ ในช่วงสมัยเอโดะอะริมัตสึมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในฐานะแหล่งผลิตผ้ามัดย้อม「อะริมัตสึ ชิโบริ」ว่ากันว่านักเดินทางบนเส้นทางโทไคโดต่างแข่งขันกันเพื่อซื้อผ้าเช็ดมือแบบญี่ปุ่นและยูกาตะที่ทำขึ้นในอะริมัตสึ ถนนที่เรียงรายไปด้วยบ้านของเหล่าพ่อค้าผู้มั่งคั่งบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตได้เป็นอย่างดี
ในช่วงต้นยุคเอโดะผ้ามัดย้อมอะริมัตสึชิโบริถูกพัฒนาขึ้นภายใต้การคุ้มครองของตระกูลโอวาริ ด้วยเทคนิคการมัดย้อมที่นำผ้ามามัดและย้อมสี ลวดลายที่ปรากฏจะขึ้นอยู่กับวิธีการมัดผ้า ปัจจุบันมีช่างฝีมืออยู่ประมาณ 200 คนที่ยังคงสร้างผลงานอยู่ และคุณสามารถชมการสาธิตโดยช่างฝีมือผู้ชำนาญได้พิพิธภัณฑ์ผ้ามัดย้อมอะริมัตสึนารุมิ นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อปที่จัดขึ้นอยู่ทั่วอะริมัตสึ และมีโปรแกรมที่ให้คุณได้สัมผัสประสบการณ์การทำผ้าพันคอลวดลายดั้งเดิมของคุณเองภายในเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
เซกิจูกุ (จังหวัดมิเอะ)
ในบรรดาเมืองที่พักแรมระหว่างทางทั้ง 53 แห่งบนเส้นทางสายโทไคโด เซกิจูกุ เป็นเมืองลำดับที่ 47ถือเป็นเมืองที่พักแรมระหว่างทางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเวลานั้น และยังคงหลงเหลือบรรยากาศของเมืองเก่ามาจนปัจจุบัน ตั้งแต่ในช่วงต้นเซกิจูกุมีการดำเนินการอย่างจริงจังในการอนุรักษ์ภูมิทัศน์เมืองโดยคำนึงถึงทั่วทั่งบริเวณ จากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกของเมืองที่ทอดยาวประมาณ 1.8 กม. บรรดาอาคารที่เรียงรายตามแนวยังคงรักษาบรรยากาศของอดีตไว้ได้อย่างงดงาม ทำให้คุณรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปสู่ห้วงเวลาในอดีต
ที่เซกิจูกุมีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น「โชกันเท」หอชมวิวที่สามารถมองเห็นเมืองได้ทั้งหมด และ 「พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เซกิจูกุฮาตะโกะทามะยะ」โรงแรมเล็ก ๆในสมัยเอโดะ ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม นอกจากนี้ยังมีร้านวากาชิ (ขนมหวานแบบญี่ปุ่น) ที่เปิดมายาวนาน, มีร้านขายชาอิเสะ และคาเฟ่มีสไตล์ที่ตั้งอยู่ในอาคารเก่าแก่ ดังนั้นการเดินชมเมืองจึงเป็นเรื่องน่าสนุกอย่างยิ่ง
หากคุณต้องการเดินทางออกจากนาโกย่าไปยังเซกิจูกุ ให้ขึ้นรถไฟ JR คันไซเมนไลน์ไปยังสถานีคาเมะยามะ จากนั้นเปลี่ยนสายไปยังคันไซเมนไลน์อีกฝั่งและลงที่สถานีถัดไปสถานีเซกิ (ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที) หรือถ้าคุณขับรถจะใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง
บทความที่เกี่ยวข้อง
สึจิยามะจูกุ (จังหวัดชิกะ)
ห่างจากเซกิจูกุไปเพียงสองลำดับคือเมืองที่พักแรมระหว่างทาง「สึจิยามะจูกุ」 เมืองลำดับที่ 49 เป็นที่รู้จักกันว่าบนเส้นทางสายโทไคโดมีช่วงถนนที่ตัดผ่านช่องเขาที่สูงชันที่เป็นเดินผ่านได้ยากที่สุดสามจุด ได้แก่ ช่องเขาฮาโกเนะ ช่องเขาสัตตะ・ไดโบซัทสึ และช่องเขาซูซุกะ โทเงะ สึจิยามะจูกุเป็นเมืองที่พักแรมระหว่างทางบริเวณเชิงเขาซูซุกะ โทเงะ ที่นี่คึกคักไปด้วยเดินทางจำนวนมากที่แวะมาพักจากการเดินเท้า ฮนจินที่นี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อโทกูงาวะ อิเอมิตสึ โชกุนคนที่สามของยุคเอโดะเดินทางมุ่งหน้าไปยังเกียวโต หลังจากนั้นยังคงถูกใช้โดยจักรพรรดิและชนชั้นสูงที่เป็นบุคคลสำคัญอีกด้วย ฮนจินที่แสนภูมิฐานแห่งนี้ยังคงรักษาข้าวของเครื่องใช้และสมุดเยี่ยมชมที่ใช้ในอดีตไว้ (ต้องทำการจองล่วงหน้าเพื่อเข้าชมฮนจิน)
หากคุณต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของในสึจิยามะจูกุแบบกระชับ ให้คุณลองแวะไปที่「พิพิธภัณฑ์โทไคโดเท็นมะคัน」 เท็นมะคันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการปรับปรุงจากบ้านพักส่วนตัวในช่วงปลายยุคเอโดะ ที่นี่มีการจัดแสดงที่น่าสนใจ เช่น ภาพจำลองสามมิติของสึจิยามะจูกุและแบบจำลองขบวนไดเมียวที่ผ่านทางสึจิยามะจูกุในสมัยเอโดะ
เมืองโคคะในจังหวัดชิกะ นอกจากจะที่ตั้งของสึจิยามะจูกุแล้วยังมีชื่อเสียงในฐานะหมู่บ้านนินจาควบคู่ไปกับนินจาแห่งอิงะอีกด้วย หากคุณไม่เพียงแต่สนใจเรื่องราวของซามูไรแต่ยังสนใจในเรื่องราวของนินจาด้วย ที่เมืองโคคะมีสถานที่ที่อำนวยความสะดวกให้คุณสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับนินจาและสัมผัสกับวัฒนธรรมนินจา เราขอแนะนำให้คุณแวะเยี่ยม「พิพิธภัณฑ์โคคะริวเรียลนินจา」และ 「หมู่บ้านนินจาโคคะ」
บทความที่เกี่ยวข้อง
เดินป่าบนเส้นทางสายโทไคโด ~ข้ามช่องเขาซูซุกะโทเงะ~
ไม่เพียงแค่เป็นการแวะเยี่ยมชมเมืองที่พักแรมระหว่างทางแต่ละแห่งเท่านั้น แต่คุณสามารถสนุกกับการเดินไปตามเส้นทางสายโทไคโดซึ่งเชื่อมต่อเมืองต่างๆ และเพลิดเพลินไปกับความรู้สึกของการเดินทางเช่นเดียวซามูไรในอดีต
ภายหลังจากยุคสมัยใหม่พื้นที่ตามแนวเส้นทางสายโทไคโดได้รับการพัฒนามากกว่าเส้นทางสายนากะเซ็นโด ดังนั้นจึงมีพื้นที่ที่คุณสามารถเพลิดเพลินไปกับวิวทิวทัศน์และเหมาะสำหรับการเดินป่าได้อยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ดีมีเส้นทางเดินป่าที่มีเสน่ห์ที่สุดเส้นทางหนึ่งบนเส้นทางสายโทไคโด เป็นเส้นทางที่เริ่มต้นจากเซกิจูกุ ข้ามซากะชิตะจูกุผ่านจุดที่ข้ามผ่านได้ยากที่ช่องเขาซูซุกะโทเงะ และไปสิ้นสุดเส้นทางที่สึจิยามะจูกุ
ตามแนวเส้นทางจากเซกิจูกุไปยังช่องเขาซูซุกะโทเงะ มีสถานที่ที่น่าสนใจอยู่มากมายที่ทำการเดินไม่น่าเบื่อ เช่น ทิวทัศน์หมู่บ้านบนภูเขาอันงดงามรอบๆ ซากาชิตะจูกุ, ศาลเจ้าคาตายามะที่มีบรรยากาศลึกลับ และทางเดินหินโบราณที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในช่องเขาซูซุกะโทเงะ
ช่องเขาซุซูกิโทเกะมีระดับความสูงที่ไม่สูงนัก มีความสูงเพียง 357 เมตร แต่เพราะความลาดชันระหว่างเซกิจูกุและซากะชิตะจูกุนั้นมีความลาดชันเป็นพิเศษจึงเป็นเส้นทางที่ต้องใช้พลังสมรรถภาพของร่างกายอย่างเต็มที่เพื่อที่จะไต่ระดับความสูงที่แตกต่างกันประมาณ 100 เมตรในครั้งเดียว การก้าวไปบนทางเดินหินโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยเอโดะและเดินเขาต่อเพื่อสัมผัสถึงอารมณ์ของนักเดินทางในอดีต
บริเวณใกล้จุดสูงสุดของช่องเขาซุซูกิโทเกะ มีโขดหินที่เรียกว่าคากามิอิวะหรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า「ปีศาจสุกะตามิ」มีเรื่องเล่าเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยที่ไม่เหมือนใครบนเส้นทางอันตรายที่ล้อมรอบด้วยป่าลึกบนเส้นทางโทไคโด ว่ากันว่ากลุ่มโจรภูเขาที่เคยอาศัยอยู่ในช่องเขาซุซูกิโทเกะ จะปรากฏตัวเข้าโจมตีนักเดินทางที่บริเวณโขดหินนี้
จากเซกิจูกุถึงซากะชิตะจูกุมีระยะทางประมาณ 6.6 กม. จากซากะชิตะจูกุถึงโคมไฟหินที่ด้านบนของช่องเขาซุซูกิโทเกะมีระยะทางประมาณ 3 กม. และจากจุดนั้นไปยังสึจิยามะจูกุ มีระยะทางประมาณ 6.8 กม. จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 6-7 ชั่วโมงรวมเวลาพัก ระหว่างทางมีสถานที่เพียงไม่กี่แห่งที่ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม แต่มีร้านอาหารบาร์บีคิวใกล้กับช่องเขาซุซูกิโทเกะที่ให้บริการอาหารป่าและอาหารจากปลาเทราต์ นอกจากนี้คุณยังสามารถจับปลาเทราต์ในบ่อตกปลาได้อีกด้วย
เนื่องจากวิธีการเดินทางกลับจากจากสึจิยามะจูกุไปเซกิจูกุนั้นมีจำกัด หากคุณต้องการกลับไปเซกิจูกุ จำเป็นต้องกลับไปที่สถานีเซกิ ให้คุณเดินทางกลับจากซุซูกิโทเกะไปยังซากะชิตะจูกุ และขึ้นรถบัสชุมชน (ราคา 200 เยน) จากป้ายรถเมล์หน้าซากะชิตะโคมินคัน
หากคุณเดินทางจากสึจิยามะจูกุให้ขึ้นรถบัส「โอมิสึจิยามะ」ที่ป้ายรถเมล์สึจิยามะจูกุ ไปลงที่สถานี「คิบุกาวะ」และนั่งรถไฟสาย JR สายคุสุสึ เพื่อไปที่สถานีคิบุกาวะ เมื่อผ่านสถานีคุซัตสึแล้วจะสามารถไปถึงสถานีเกียวโตในเวลาประมาณ 1ชั่วโมง
บทส่งท้าย
ในยุคสมัยเอโดะเส้นทาง「สายโทไคโด」ซึ่งเชื่อมต่อสองเมืองใหญ่อย่างเอโดะและเกียวโต เส้นทางนี้จึงเป็นทางหลวงสายสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป วัฒนธรรมต่างๆ ได้พัฒนาไปตามทางหลวงนี้ และภูมิทัศน์เมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของภูมิภาคได้ก่อตัวขึ้น มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมายที่คุณสามารถแวะเยี่ยมชมได้ง่ายๆ ภายในทริปครึ่งวันถึงหนึ่งวันจากนาโกย่า และที่พลาดไม่ได้เราอยากให้คุณได้ลองแวะมาสัมผัสเสน่ห์ของเส้นทางซามูไรเทรล